โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
๒๔ ธ.ค. ๕๕
การเป็นครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องฝืนใจ ๒ ต่อ คือ (๑) ฝืนใจไม่บอกสาระความรู้แก่ศิษย์
และ (๒) ฝืนใจทำหน้าที่ที่ไม่เคยทำ คือหน้าที่ ช่วยศิษย์สลัดความรู้ผิดๆ ออกไปจากตัว
ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องช่วยแก้ไขความรู้ผิดๆ ของนักเรียน
ผมปิ๊งแว้บจากการอ่านและตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teaching ที่ผมเตรียมตีความลง บล็อก ๑๖ ตอน และลงตอนที่ ๑ ไปแล้วเมื่อวานซืน อ่านได้ที่บันทึกที่เกี่ยวข้องข้างล่าง
ผมตีความว่า ต้นตอของเรื่องนี้เริ่มที่โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ทำให้เด็กเปลี่ยน เด็กสมัยนี้ไม่ได้เรียนความรู้และข้อมูลสำคัญเฉพาะจากโรงเรียนอีกต่อไป หรือกล่าวให้หนักยิ่งขึ้นได้ว่า สมัยนี้นักเรียนรับความรู้จากโรงเรียนเป็นแหล่งรอง ไม่ใช่แหล่งหลัก แหล่งหลักคือเขารับจากสังคมโดยรอบ โดยเฉพาะจากสื่อมวลชน และ อินเทอร์เน็ต
ความรู้จากแหล่งต่างๆ นอกโรงเรียนนั้น เด็กรับมาอย่างถูกต้องบ้าง รับมาแบบเข้าใจผิดบ้าง และที่ร้ายกว่านั้น คือความรู้บางส่วนเด็กรับมาอย่างถูกต้อง แต่ความรู้นั้นมันผิด เด็กนักเรียนในสมัยแห่งข้อมูลข่าวสารอุดมสมบูรณ์จึงมีทั้งความรู้ที่ถูกต้อง และความรู้ผิดๆ อยู่ในสมอง ต่างจากเด็กสมัย ๖๐ ปีก่อนอย่างผม ที่ความรู้หายาก ต้องไปเรียนจากโรงเรียน และโรงเรียนก็มีหน้าที่เติมความรู้ให้แก่เด็ก ไม่ต้องสนใจเลยว่าเด็กจะมีพื้นความรู้ผิดๆ ติดตัวมา
วิชาการด้านความเป็นครูสมัยใหม่ (ใหม่เอี่ยม จากหนังสือที่อ้างแล้ว ซึ่งมาจากการสังเคราะห์ผลงานวิจัย) บอกว่า ครูสมัยใหม่นอกจากไม่มีหน้าที่เติมความรู้แก่ศิษย์แล้ว ยังต้องช่วยให้เด็กสลัดความรู้ผิดๆ ออกจากหัว (สมอง) อีกด้วย
จะเห็นว่า การเป็นครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องฝืนใจ ๒ ต่อ คือ (๑) ฝืนใจไม่บอกสาระความรู้แก่ศิษย์ และ (๒) ฝืนใจทำหน้าที่ที่ไม่เคยทำ คือหน้าที่ช่วยศิษย์สลัดความรู้ผิดๆ ออกไปจากตัว
โปรดสังเกตว่าในการทำหน้าที่ทั้งสองอย่างนี้ ครูไม่ใช่ผู้ลงมือทำ ผู้ลงมือทำคือตัวเด็กเอง ครูเป็นเพียงผู้ช่วย หรือ “คุณอำนวย” แต่ถ้าครูไม่ทำหน้าที่นี้ ศิษย์ก็จะไม่สามารถ Learn ตามข้อ ๑ และ Delearn ตามข้อ ๒ ได้
แต่เมื่อครูทำหน้าที่ดังกล่าว ศิษย์ก็จะได้ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่สำคัญ คือ Learning Skills และ Delearning Skills ไปพร้อมกัน
ที่มา: http://lripsm.wix.com/21st#!-21/c6he
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น