วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ในหลวงกับการศึกษาไทย

ชนชาติไทยเป็นชาติที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองมายาวนานและต่อเนื่อง แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์บ้างก็ไม่เคยว่างกษัตริย์ และทุกพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบ้านเมืองและประชาชนต่างๆ กันไป ตามความจำเป็นหรือเหมาะสมกับยุคสมัยนั้นๆ ไพร่บ้านพลเมืองเองก็มีความจงรักภักดีและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด และเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์จะครบ ๖๐ ปี ณ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ อันจะนับได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกด้วย เมื่อเทียบกับบรรดากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขในปัจจุบัน สถานีวิทยุ อสมท. จึงจะขออัญเชิญพระราชกรณียกิจนานัปการอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถและพระเมตตาที่ได้ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย ตลอดจนความจงรักภักดีที่ทวยราษฎรมีต่อพระองค์มาเผยแพร่เพื่อเฉลิมพระเกียรติตลอดปีแห่งการเฉลิมฉลอง ดังต่อไปนี้


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการศึกษาของไทย

การให้การศึกษา ให้ความรอบรู้แก่ประชาราษฎร นับเป็นพระราชภารกิจหนึ่งที่พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญสืบทอดตลอดมา และแม้ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ จะได้มีรัฐบาลเข้ามาดูแลจัดการในเรื่องการศึกษาของชาติแล้วก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงนิ่งเฉยต่อปัญหาที่ทรงพบระหว่างเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารในข้อที่ว่ายังมีราษฎรได้รับบริการทางการศึกษาไม่เพียงพออยู่ นอกเหนือไปจากความขาดแคลนและขัดสนในด้านอื่น ๆ เช่นการสาธารณสุข ปัญหาที่ดินทำกิน ขาดน้ำจะบริโภคอุปโภคและทำการเกษตร ขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ เป็นต้น นี่เองเราจึงพบว่าในบรรดาพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเพื่อการพัฒนามากหลายนั้น ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะถ้าประชาชนมีความรู้ ก็จะสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ดังพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้ในหลายโอกาส และหลายสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่จะได้อัญเชิญมาบางส่วนดังนี้

“ยังมีราษฎรอีกเป็นส่วนใหญ่ที่ขัดสนและพึ่งตนเองไม่ได้… ความขัดสนของราษฎรดังกล่าว เกิดเพราะเขาไม่สามารถใช้กำลังความคิด กำลังแรง ตลอดจนทุนรอนของเขาให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควรได้ ราษฎรของเราต้องการความช่วยเหลือ คือความช่วยเหลือที่จะทำให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้ ยกฐานะขึ้นด้วยตนเองได้”

พระราชทานแก่นิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เข้ารับพระราชทานปริญญา เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคมพ.ศ. ๒๕๑๐

ในวันที่ ๑๒ ของเดือนธันวาคม ปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นักศึกษาของวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ถึงความสำคัญของการศึกษาอีก ดังความตอนหนึ่งว่า “งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่าพลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตก ถ้าหากยังคงเป็นอยู่ต่อไปเราอาจจะเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากเหตุอื่นแล้วต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาด้วยอย่างแน่นอน….. เราต้องจัดงานด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น….”

พระบรมราโชวาทอันแสดงถึงพระราชปณิธานที่จะพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการให้การศึกษานี้ นับเป็นแนวทางปฏิบัติทั้งในการให้การศึกษาและทำงานอย่างครบถ้วน ก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียนและการศึกษานอกโรงเรียน


พระมหากรุณาธิคุณต่อการศึกษาในระบบโรงเรียน

- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนจิตรลดาขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมถึงบุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง ทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนทั่วไปได้เข้าร่วมเรียนด้วย ถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการทดลองการเรียนการสอน โดยได้ทรงเอาพระทัยใส่ติดตามผลการเรียนการสอนด้วยพระองค์เอง

- ได้พระราชทานพระราชดำริให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพื้นที่ห่างไกลการคมนาคมตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้เด็ก และเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาได้มีโอกาสเล่าเรียนเท่าเทียมกับเยาวชนในท้องถิ่นอื่น โดยมีแม่ทัพภาคเป็นแกนนำในการก่อสร้างในพื้นที่ทหาร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อวัสดุก่อสร้างและพระราชทานชื่อโรงเรียนว่า “ร่มเกล้า” โดยแห่งแรกสร้างที่บ้านหนองแคนอ. นาแก จังหวัดนครพนม เมื่อปี ๒๕๑๕ หลังจากนั้นได้ขยายไปอีกหลายจังหวัด นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสร้างโรงเรียนกับกองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนเขต ๕ ค่ายดารารัศมีที่ได้ริเริ่มจัดตั้งเพื่อสอนหนังสือให้แก่ชาวเขาและประชาชนไว้ก่อนหน้านั้นอีกด้วย โรงเรียนที่ตำรวจตระเวณชายแดนดำเนินการนี้จะมีชื่อแตกต่างกันไปตามแหล่งที่มาของเงินก่อสร้างและความช่วยเหลือ จึงมีทั้งโรงเรียน ตชด.บำรุง, โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์, โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์, โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์, โรงเรียนในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, โรงเรียนมิตรมวลชน, โรงเรียนจุฬา-ธรรมศาสตร์ ,โรงเรียนทหารม้าอนุสรณ์เป็นต้น
- ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้จัดตั้งและทำนุบำรุงโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขึ้นอีกหลายโรงเรียนตามวัตถุประสงค์ต่างๆกัน เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ สำหรับเด็กและเยาวชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย และเป็นกำพร้า กับโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนสำหรับเด็กที่ขาดแคลนเด็กที่การเรียนอ่อนไม่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาอื่น เป็นต้น

- ทรงรับโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ อันหมายถึงทรงให้การช่วยเหลืออุปถัมภ์ พระราชทานพระราชทรัพย์ ทรงให้คำแนะนำ และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเพื่อพระราชทานกำลังใจแก่ครูและนักเรียนอีกหลายโรงเรียนได้แก่ โรงเรียนราชวินิต โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัยเป็นต้น

- การพระราชทานความช่วยเหลือในทางการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้แก่ชาวไทยนั้นมิได้มีความจำกัดอยู่ที่การศึกษาขั้นพื้นฐานคือประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเท่านั้น หากแต่ทรงมีพระปรีชาญาณที่กว้างไกลสุดประมาณ ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาพลเมืองให้ก้าวทันวิทยาการสมัยใหม่ โดยจะต้องส่งคนไปศึกษาและดูงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อจะได้นำความรู้มาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาวิทยาการต่างๆ ในประเทศ ให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมชาติอื่น จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งกองทุนการศึกษาขึ้นหลายทุน อาทิ ทุนอานันทมหิดล ทุนส่งเสริมบัณฑิต และ ทุนเล่าเรียนหลวง เป็นต้น โดยแต่ละทุนนั้นก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป

- ทรงสนับสนุนการจัดทำตำราด้วยการก่อตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เยาวชนมีสารานุกรมฯใช้เป็นตำราประกอบการเรียน และบุคคลอื่นๆ ทุกวัยก็สามารถอ่านรู้เรื่องและเข้าใจได้ด้วยตัวเอง นี่จะเป็นการช่วยเสริมให้เยาวชนไทยมีพื้นฐานเกี่ยวกับวิทยาการสาขาต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์อันเป็นฐานแห่งความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคน


พระมหากรุณาธิคุณต่อการศึกษานอกระบบโรงเรียน

ความหมายที่สำคัญของการศึกษาคือกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาวิชาการและประสบการณ์แก่ผู้เรียนให้มีความรู้ ความคิด สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสงบสุข และแก้ปัญหาได้ และการศึกษามิได้เกิดขึ้นเฉพาะในโรงเรียน หากแต่ขยายวงกว้างออกไปสู่การจัดโครงการต่างๆ ด้วยวิธีการและจุดประสงค์ที่สอดคล้องกับความต้องการของชีวิต การศึกษาเช่นนี้เป็นของแท้ที่เกิดจากความเมตตาและห่วงใยของครูผู้มุ่งช่วยเหลือศิษย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตาหาวิธีถ่ายทอด สรรพวิทยาการที่ครอบคลุมหลายสาขาผ่านโครงการตามพระราชประสงค์ที่ได้ทรงศึกษาข้อมูลทุกด้านไว้แล้วอย่างรอบคอบ ด้วยการทรงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และสาธิตให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในปัญหา และวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องอันจะทำให้ทุกคนสามารถพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน ดังจะได้อัญเชิญบางโครงการมาให้เห็นได้ชัดเจนดังนี้

โครงการปลูกป่า ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความชุ่มชื้น และความสมดุลของธรรมชาติ การปล่อยให้ป่าไม้ถูกทำลายจะยังความเสียหายมหาศาลในภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หาพันธุ์ไม้ยืนต้นทั้งจากในและนอกประเทศมาทดลองปลูก เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสมไปปลูกทดแทนป่าที่ถูกทำลาย และเพื่อปรับปรุงแหล่งต้นน้ำ พระราชกรณียกิจและการดำเนินกิจกรรมตามพระราชประสงค์นี้ได้ก่อให้เกิดโครงการที่มีลักษณะการดำเนินงานโดยตรง และโครงการที่มีกิจกรรมต่อเนื่องอีกหลายโครงการ เช่น โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการ ทำลายป่าไม้ของชาวเขาและส่งเสริมการปลูกป่าทดแทน ปลูกพืชอื่นแทนการปลูกฝิ่น ฝึกอบรมชาวเขาให้เข้าใจหลักวิชาการเกษตรในที่สูง ส่งเสริมด้านการศึกษา อนามัย และการวางแผนครอบครัวแก่ชาวเขา ทั้งดำเนินการวิจัยทดลองพันธุ์พืชและสัตว์ รวมถึงศึกษาด้านการขนส่งและการตลาดด้วย อีกโครงการหนึ่งได้แก่โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา “สวนสองแสน” คำว่า “สวนสองแสน” นี้สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินด้วยเงินสองแสนบาท สวนสองแสนนี้มีธรรมชาติที่งดงาม อากาศเย็นสบาย แต่สภาพดินเลวจนปลูกพืชไม่ได้ผล จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทดลองปลูกพืชผลไม้เมืองหนาวเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ทั้งยังให้นักวิชาการศึกษาหาข้อมูลในการปลูกพืชเมืองหนาวเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรไทยในอนาคต ปรากฏว่าประสบความสำเร็จด้วยดี เช่นนี้จึงจะเห็นได้ว่าโครงการปลูกป่าและโครงการต่อเนื่องนี้เป็น การสอนให้ประชาชนเรียนรู้การอนุรักษ์ป่าไม้ด้วยการเลิกทำลายป่าและปลูกป่าทดแทนด้วยวิธีปฏิบัติจริง

โครงการพัฒนาที่ดิน ปี ๒๕๐๗ เป็นปีที่เริ่มโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ (สืบเนื่องมาจากราษฎรขาดที่ดินทำกิน และสภาพดินเพาะปลูกไม่ได้ผล) อันเป็นโครงการที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ นับตั้งแต่วิจัยค้นคว้าหาข้อมูลจากการทดลองปลูกพืช พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างสิ่งที่จำเป็นอื่นๆ แล้วให้เกษตกรจำนวนหนึ่งทดลองเข้าทำการเพาะปลูก จากนั้นขยายที่ดินให้ราษฎรที่ต้องการช่วยตัวเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเข้าทำกินโดยจัดสรรที่ดินให้เพียงพอตามแผนผังและกฏเกณฑ์ที่วางไว้ แล้วจัดตั้งหมู่บ้าน ตั้งสหกรณ์การเกษตรขึ้นเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของตน โดยสหกรณ์จะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นส่วนรวมเพื่อรักษาไม่ให้ที่ดินที่ได้เข้าทำกินแล้วหลุดมือไปได้ เกษตรกรผู้เป็นสมาชิกจะได้รับสิทธิทำกินในที่ดินที่ได้รับจัดสรรตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน มีการพัฒนาหมู่บ้านด้วยการสร้างถนน สร้างสิ่งสาธารณูปโภค พัฒนาการปลูกพืช ปลูกหญ้า การบำรุงดิน การเลี้ยงโคพันธุ์ การใช้ปุ๋ยคอกและทำปุ๋ยหมักใช้แทนปุ๋ยเคมี พร้อมทั้งฝึกสอนวิชาชีพที่คนในครอบครัวจะได้ทำในยามว่างด้วย

ผลของโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์นี้ นอกจากจะทำให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินแล้ว พวกเขายังได้เรียนรู้วิธีการเพิ่มผลผลิต ได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาการทำการเกษตรด้วยหลักวิชาที่ถูกต้อง มีความสามารถที่จะประกอบอาชีพอย่างได้ผลด้วยตนเองสืบต่อไป จึงนับได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงวางรากฐานการจัดการศึกษานอกโรงเรียนด้านการเกษตรแบบครบวงจรให้แก่ระบบการศึกษาของไทย

ที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับโครงการตามพระราชประสงค์ โครงการตามพระราชดำริอีกนับพันโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพากเพียรค้นคว้าทดลองแล้วจึงพระราชทานเพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย


พระร้อยรัดดวงใจไทยทั้งผอง

แม้กาลเวลาจะผ่านมาสองปีเศษ แต่ภาพของนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลที่ได้มีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทัศนศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากสถานที่จริง ก็ยังคงประทับตา ประทับใจแก่ผู้ที่พบเห็นภาพนั้น แต่ผู้ที่ประทับใจที่สุดน่าจะได้แก่ตัวของนักเรียนผู้มีโอกาสตามเสด็จฯเอง น.ส. ทิพยวรรณ ศุภกิจถาวร นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๕ โรงเรียนวังไกลกังวล ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนไว้ว่า “ มีโอกาสได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งสามครั้ง ความรู้สึกทั้งสามครั้งไม่ต่างกันเลย ยังคงตื่นเต้น และรู้สึกตื้นตันทุกครั้ง ตนไม่เคยนึกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ที่อยู่สูงสุด จะทรงมาเป็นครูและรับสั่งสอนตนอย่างใกล้ชิด เป็นความประทับใจอย่างที่สุดของชีวิต “ส้ม” มีโอกาสได้ตามเสด็จฯ ไปที่เขาเต่า ไปที่โครงการฝนหลวง และไปที่ปราณบุรี พระองค์ทรงเป็นครูที่รับสั่งสอนหลายอย่าง ในครั้งแรกที่มีโอกาสได้ตามเสด็จฯ พระองค์ท่านรับสั่งสอนเรื่องดิน ทรงใช้ศัพท์ง่ายๆ ทรงสอนพวกเราอย่างไม่ถือพระองค์เลย นักเรียนที่ตามเสด็จฯ ก็ก้มหน้าก้มตาจดในสิ่งที่พระองค์รับสั่งสอนกันยกใหญ่ สักพักในหลวงทรงถามว่า ที่จดกันน่ะเข้าใจหรือเปล่า แล้วก็ทรงยิ้ม พระองค์ทรงรับสั่งสอนอยู่นานหลายชั่วโมงโดยที่พระองค์ไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยเลย น.ส.ทิพยวรรณบอกด้วยว่าการได้ตามเสด็จฯ ทำให้ตนได้เห็นการทำงานที่ทรงเหน็ดเหนื่อยของพระองค์ ไม่ว่าจะดึกดื่น ค่ำคืน หรือพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน แต่ถ้างานของพระองค์ท่านทรงทำอยู่ ยังไม่เสร็จ พระองค์ท่านจะทรงทำให้เสร็จในที่สุด พระองค์ท่านทรงไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ตรงนี้ตนได้นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ที่สำคัญการที่ได้มาเรียนที่โรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนของพระองค์ท่าน ตนจึงตั้งใจไว้แล้วว่าจะตั้งใจ เรียน และจะเป็นคนดีให้สมกับที่พระองค์พระราชทานโอกาสให้พวกเรามีโรงเรียนเรียน”


เรียบเรียงจาก - หนังสือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช กับการศึกษาของไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
- มติชน ๕ ธันวาคม ๒๕๔๖


พระบรมราโชวาท

“…ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วยให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษ เป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรกเมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอดครบถ้วน ทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้น ๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจ ความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชัง มิฉะนั้นความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้…”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔



ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท เรื่อง “ในหลวงของเรา” ผลิตโดย งานบริการการผลิต ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น